ข้อมูลทั่วไป - ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก
Menu

ข้อมูลทั่วไป

          ที่ตั้งและอาณาเขต เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศไทย ใน ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ และต.ไล่โว่  อ. สังขละบุรี  จ. กาญจนบุรี มีเนื้อที่ทั้งหมด 1,331,602 ไร่ (2,123ตารางกิโลเมตร)  

           -ทิศเหนือ จรดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก

           -ทิศใต้ จรดอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานแห่งชาติลำคลองงู  และอุทยานแห่งชาติเขาแหลม

           -ทิศตะวันออก จรดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก จ.ตาก

           -ทิศตะวันตก จรดอุทยานแห่งชาติเขาแหลม และประเทศเมียนมา

          สภาพทั่วไป

          ภูมิประเทศ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกตั้งอยู่ทางตอนล่างของเทือกเขาตะนาวศรี ลักษณะของภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาใหญ่น้อยสลับซับซ้อน และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของลำน้ำแควน้อยและลำน้ำแควใหญ่ ความสูงจากระดับน้ำทะเล ยอดเขาสูงสุดคือ ยอดเขาใหญ่(ไถ่ผะ) สูง 1,830 เมตร ทิวเขาส่วนใหญ่วางพาดจากเหนือลงสู่ใต้ พื้นที่ที่มีลักษณะเด่นคือพื้นที่ราบสูงสลับเนินเขาและแนวเขาหินปูน ได้แก่ ทุ่งใหญ่ ทุ่งกระทิง บริเวณตอนกลางของพื้นที่เป็นต้นน้ำลำธารหลายสาย ได้แก่ ห้วยโรคี่ และแม่น้ำรันตี ไหลลงลำแควน้อย ห้วยเซซาโว่ ห้วยดงวี่ ห้วยซ่งไท้ ไหลลงสู่ลำน้ำแคว ห้วยหม่องดง แม่น้ำแม่กษัตริย์ใหญ่ และแม่น้ำสุริยะไหลลงสู่ประเทศเมียนมา พื้นที่ตอนล่างเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของห้วยลำคลองงู และห้วยดีกะ(ห้วยคลิตี้)

ลำน้ำแม่กลองตอนบน

          ทรัพยากรป่าไม้ ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกมีหลายลักษณะผสมกันอยู่ตามธรรมชาติ เป็นแหล่งน้ำแหล่งอาหาร และที่หลบซ่อนป้องกันภัยของสัตว์ป่า ประกอบด้วยชนิดป่าต่างๆ ดังนี้

          ทุ่งหญ้า เป็นป่าที่มีไม้ยืนต้นกระจายอยู่เพียงห่างๆ ไม้พื้นล่างเป็นไม้พวกหญ้า มีต้นปรงและต้นเป้งขึ้นผสมในบริเวณดงหญ้า โดยพื้นที่เป็นเนินเขาแทรกด้วยเขาหินปูน ร่องห้วยและป่าดงดิบริมห้วย เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่ากินพืช และเป็นแหล่งซุ่มนอนหลบภัยในบริเวณป่าทุ่งดงพง ทุ่งหญ้าที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ทุ่งใหญ่(ทุ่งกระทิง) ทุ่งฤาษี ทุ่งท่ากระดาน

ป่าทุ่งหญ้าตามธรรมชาติ

          ป่าเบญจพรรณ มีไม้ที่มีคุณค่าในทางเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น ประดู่ แดง มะค่าโมง ตะแบก  และมักจะมีไม่ไผ่ขึ้นแซมอยู่เป็นไม้พื้นล่าง เช่น ไผ่ลอ ไผ่ไร่  ไผ่รวก และบางพื้นที่จะปกคลุมไปด้วยป่าไผ่เกือบทั้งหมด ซึ่งมักจะเป็นกอขนาดใหญ่ ได้แก่ ไผ่ป่าหรือไผ่หนาม ไผ่ซางนวล และไผ่บง เป็นต้น ในช่วงที่หน่อไม้แตกหน่อ หรือไม้ป่า เช่น ส้าน มะกอก มะขามป้อม ตะคร้อ ลำไยป่า มีผลสุกก็ของสัตว์ป่า รวมถึงไม้พุ่มและหญ้าที่เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าได้ตลอดทั้งปี

กวางป่าลงกินโป่งในป่าไผ่

           ป่าเต็งรัง มักจะพบในบริเวณที่หน้าดินตื้น หน้าดินกักเก็บน้ำได้น้อย ความชื้นต่ำ ไม้มีค่าที่พบมากได้แก่ เต็ง รัง ประดู่ และแดง ส่วนไม้พื้นล่างมักเป็นหญ้าชนิดต่างๆ ต้นเป้ง และต้นปรง ในพื้นที่เขตฯทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกมีป่าเต็งรังอยู่เป็นหย่อมเล็กๆ ซึ่งมีไม่มากนัก

ไม้ใหญ่ในป่าดงดิบ

           ป่าดงดิบ มักจะพบตามที่ราบลุ่มและริมห้วยซึ่งมีลักษณะทั้งดงดิบชื้นและดงดิบแล้งผสมอยู่ มีพรรณไม้ป่าดงดิบขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น มีพรรณไม้ที่สำคัญและมีค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้ตะเคียน และไม้อบเชย ไม้พื้นล่างเป็นหวาย ไม้ไผ่ และเถาวัลย์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญยิ่งและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เช่น สมเสร็จ ค่าง ลิงเสน เก้งหม้อ ชะมด อีเห็น นกเงือกขนาดใหญ่            

ป่าดิบเขาบนความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ป่าดิบเขาบนความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล

          ป่าดงดิบเขา กระจายอยู่ตามสันเขาที่ระดับความสูงมากขึ้น พรรณไม้ป่าดิบเขาจะเป็นไม้จำพวกก่อชนิดต่างๆ  มณฑาป่า จำปีป่า หวายขนาดใหญ่ แทรกด้วยไผ่เฉพาะถิ่น พื้นล่างเป็นไม้พุ่ม พืชในตระกูลเทียน ลำต้นของไม้ยืนต้นปกคลุมไปด้วยมอส เฟิร์น และไลเคน สภาพอากาศมีความชื้นตลอดทั้งปี เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลากหลายชนิดเช่นกัน

           ทรัพยากรสัตว์ป่า การผสมผสานของทุ่งหญ้าและป่าไม้ชนิดต่างๆ มีแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร แหล่งโป่ง และที่หลบซ่อนป้องกันภัย จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ดังนี้ สัตว์ป่าที่มีจำนวนมากและพบเห็นได้บ่อยๆ ได้แก่ กระทิง กวาง และเก้ง ตามทุ่งหญ้า ป่าไผ่ และแหล่งดินโป่ง เส้นทางรถ ด่านสัตว์ป่า ในบริเวณป่าโปร่ง ป่าไผ่ และในพื้นที่หน่วยพิทักษ์ป่าก็จะพบเห็นไก่ป่า ไก่ฟ้าหลังเทา และนกนานาชนิด จากการสำรวจสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร สามารถเป็นแบ่งประเภทต่างๆได้ดังนี้

          สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammal) พบรวม 69 ชนิด 52 สกุล  ใน 28 วงศ์ เป็นสัตว์ป่าสงวนที่สำคัญของประเทศไทย 4 ชนิด ประกอบด้วย สมเสร็จ เลียงผา เก้งหม้อ และแมวลายหินอ่อน สัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิด เช่น เสือโคร่ง วัวแดง กระทิง ฯลฯ

สมเสร็จ

          สัตว์ปีก (Bird) จำนวนนกเท่าที่สำรวจพบไม่น้อยกว่า 289 ชนิด จาก 177 สกุล ใน 52 วงศ์ พบนกที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น นกเงือกคอแดง เหยี่วปลาใหญ่หัวเทา และนกที่จัดอยู่ในภาวะถูกคุกคาม เช่น นกกก นกเงือกกรามช้าง นกเงือกสีน้ำตาล รวมถึงนกอพยพที่พบได้ยากในบางพื้นที่ เช่น นกกิ้งโครงปีกลายจุด นกเดินดงอกเทา นกจาบปีกอ่อนหัวดำ เป็นต้น 

นกเงือกคอแดง

         สัตว์เลื้อยคลาน (Reptile) พบไม่น้อยกว่า 48 ชนิด จาก 34 สกุล ใน 12 วงศ์ มีสัตว์ที่อยู่ในภาวะถูกคุกคาม เช่น เต่าหก เต่าเดือย เต่าจักร ตะพาบม่านลาย เป็นต้น

เต่าหก

         สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibian) พบไม่น้อยกว่า 15 ชนิด จาก 8 สกุล ใน 5 วงศ์ ชนิดที่พบ เช่น ปาดเขียวตีนลาย อึ่งกรายลายเลอะ คางคกแคระ จงโคร่ง กบหนอง กบทูด เป็นต้น

ปาดเขียวตีนลาย

         ปลาน้ำจืด (Fresh-water fish) พบว่ามีอยู่ไม่น้อยกว่า 67 ชนิด จาก 49 สกุล ใน 20 วงศ์ เช่น ปลายี่สก ปลาเวียน ปลาราหู ปลาคัง ปลาแค้ ปลาหมูข้างลาย เป็นต้น

 

แหล่งภาพถ่ายและกราฟฟิก : ปริญญา ผดุงถิ่น, โดม ประทุมทอง, เดินเท้า 1