ทุ่งใหญ่ - ห้วยขาแข้ง มรดกโลก - ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก
Menu

ทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง มรดกโลก

Thungyai – Huai Kha Khaeng : World Heritage site

           เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีพื้นที่รวม 4,017,087 ไร่ มีความต่อเนื่องและเป็นแกนกลางของผืนป่าตะวันตก ครอบคลุมในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.อุทัยธานี จ.กาญจนบุรี และจ.ตาก เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารของแม่น้ำสายหลักของประเทศหลายสาย เช่น แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำท่าจีน และบางส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา  เป็นผืนป่าธรรมชาติที่รวบรวมไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ มีความงดงามตามธรรมชาติและมีความสมบูรณ์

           ในปีพุทธศักราช 2534 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก นับเป็นสถานที่ทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียออกเฉียงใต้ที่ได้เป็นมรดกโลก โดยมีคุณสมบัติการเป็นมรดกโลกตรงตามหลักเกณฑ์ข้อที่ 7,9 และข้อที่ 10 ตามแผนปฏิบัติการมรดกโลก ปี 2548 ดังนี้

(VII) ประกอบด้วยปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่หรือพื้นที่ซึ่งมีความงามเป็นที่ยอมรับ และมีความสำคัญด้านความสวยความงาม

(VII) to contain superlative natural phenomena or areas of exceptional natural beauty and aesthetic importance;

(IX) มีความโดดเด่นด้านการเป็นตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่สำคัญในการดำเนินไปของขบวนการทางนิเวศวิทยาและชีววิทยาในการวิวัฒนาการและการพัฒนาของระบบนิเวศบนบก ในแหล่งน้ำจืด ชายฝั่งและท้องทะเล และสังคมพืชและสัตว์

(IX) to be outstanding examples representing significant on-going ecological and biological processes in the evolution and development of terrestrial, fresh water, coastal and marine ecosystems and communities of plants and animals;

(X) บรรจุไว้ซึ่งถื่นที่อาศัยทางธรรมชาติที่มีความสำคัญและนัยสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นที่อาศัย รวมถึงที่บรรจุไว้ซึ่งชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามอย่างหนักที่มีคุณค่าโดนเด่นเป็นสากลในแนวคิดทางวิชาการหรือการอนุรักษ์

(X) to contain the most important and significant natural habitats for in-situ conservation of biological diversity, including those containing threatened species of outstanding universal value from the point of view of science or conservation.

           ต่อมา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2538 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ กำหนดให้ วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง มรดกโลก เพื่อให้ประชาชนตระหนักในความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าว และร่วมมือร่วมใจ ปกป้องรักษา เพื่อการส่งมอบให้อนุชนรุ่นต่อไปได้อย่างสมบูรณ์

แผนที่ผืนป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง

รายงานการนำเสนอให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

            เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอบ้านไร่และอำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ครอบคลุมพื้นที่ต้นน้ำของลำน้ำสายหลัก คือ ลำห้วยขาแข้ง ลักษณะภูมิประเทศทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนที่ก่อให้เกิดสภาพของที่ลุ่ม ต่ำริมลำห้วย ความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 250 เมตร ขึ้นไป จนถึงยอดเขาสูงถึงประมาณ 1,550 เมตร ลักษณะของพื้นที่เป็นสันเขาต่อเนื่องสองข้าง ขนานกับลำห้วยขาแข้งที่วางพาดพื้นที่จากเหนือลงใต้โดยมีเขาปลายห้วยขาแข้ง เป็นจุดเริ่มต้นของลำห้วยสำคัญสายนี้ ตามสบห้วยจากลำห้วยสายใหญ่ ๆ หลายสายที่มาบรรจบกับลำห้วยขาแข้งก่อให้เกิดเป็นที่ลุ่มกว้างใหญ่ริมลำห้วย เช่น สบห้วยแม่ดี สบห้วยไอ้เยาะ และสบห้วยกระดิ่ง เป็นต้น

วัวแดง นกยูง ห้วยขาแข้ง

            เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ ได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อปี พ.ศ. 2515 มีพื้นที่ 1,019,375 ไร่ เนื่องจากเป็นป่าธรรมชาติที่รวมเอาความหลากหลายของสภาพป่าที่เป็นที่อยู่ อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิดตั้งแต่ ช้างป่า กระทิง วัวแดง สมเสร็จ เสือลายเมฆ รวมถึงสัตว์ป่าขนาดเล็ก นก และสัตว์ป่าประเภทสะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน และปลาน้ำจืด ในบรรดาสัตว์เหล่านี้มีสัตว์ป่าที่หายาก และได้รับการกำหนดสถานภาพว่ากำลังจะสูญพันธุ์ไปรวมอยู่ด้วยหลายชนิด เช่น เลียงผา เสือโคร่ง เสือดาว เสือลายเมฆ ลิงไอ้เงี้ยะ และชะนีมือขาว หมาใน และเก้งหม้อ เป็นต้น ต่อมาในปี พ.ศ.2529 รัฐบาลได้เห็นความสำคัญตามข้อเสนอของกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ว่าพื้นที่ป่าสงวนตอนใต้ซึ่งเป็นแหล่งป่าสัมปทานทำไม้ของบริษัทไม้อัดไทย เป็น ป่าสำคัญที่ยังไม่ผ่านการทำไม้และเป็นแหล่งอาหารสุดท้ายของควายป่าและนกยูง ประกอบกับจะทำให้ป่าอนุรักษ์ผืนนี้มีขนาดใหญ่พอที่จะรักษาชนิดพันธุ์ของ สัตว์ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดที่หายากไว้ให้ปลอดภัยต่อไปได้ จึง ได้มีการประกาศผนวกพื้นที่ป่าตอนใต้ รวมเข้ากับพื้นที่เดิมของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีกเป็นจำนวน 589,775 ไร่ จึงทำให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีพื้นที่รวมกันทั้งสิ้น 1,609,150 ไร่ หรือ ประมาณ 2,575 ตารางกิโลเมตร

            พื้นที่ป่าอนุรักษ์ผืนนี้ เป็นศูนย์รวมของความหลากหลายทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ ซึ่งมีลำห้วยขาแข้งเป็นสายน้ำหลัก มีความยาวผ่านตลอด จากเหนือลงใต้ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า คิดเป็นระยะทาง 90 กิโลเมตร มีน้ำไหลตลอดปี ลำห้วยนี้บางแห่งมีความกว้างถึง 60 เมตร สภาพของลำห้วยประกอบด้วย ดอนทราย หาดกรวดหิน วังน้ำลึกเป็นช่วง ๆ ป่าห้วยขาแข้งเป็นแหล่งรับน้ำที่สำคัญของเขื่อนศรีนครินทร์ นอกจากนี้ยังมีลำห้วยสายหลักที่รับน้ำแล้วปล่อยลงสู่ลำห้วยขาแข้ง เช่น ห้วยแม่ดี ที่อยู่ทางตอนใต้ของพื้นที่ รับน้ำจากยอดเขาใหญ่และยอดเขาน้ำเย็นในเขตอำเภอบ้านไร่ ลำห้วยแม่ดี มีความยาว 55 กิโลเมตร ลำห้วยไอ้เยาะ อยู่บริเวณตอนกลางของพื้นที่ รับน้ำจากเทือกเขาเขียว ห้วยไอ้เยาะมีความยาว 30 กิโลเมตร ทางตอนบนมีห้วยกระดิ่งรับน้ำจากเทือกเขาดอยหินแดง ส่วนด้านตะวันออกเฉียงเหนือยังมีพื้นที่รับน้ำที่แยกลงไปยังห้วยทับเสลา ที่ลำเลียงน้ำไปลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนทับเสลาที่อยู่นอกเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

            สภาพอากาศในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จัดว่าอยู่ในระหว่างกึ่งโซนร้อนกับโซนร้อน อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีอิทธิพลอยู่มาก ทำให้มีฝนตกอยู่เกือบตลอดฤดูฝน พายุโซนร้อนในทะเลจีนใต้เป็นที่มาของฝนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ในราวเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม อุณหภูมิโดยทั่วไปไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป จึงทำให้เกิดความเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด ทั้งสัตว์ป่าที่กระจายถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนเหนือและจากตอนใต้ที่กระจายขึ้น มาอยู่ในบริเวณนี้ ความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศ ปริมาณความชื้นและอากาศ ทำให้ป่าห้วยขาแข้งเป็นศูนย์รวมของสภาพป่าไม้หลากหลายชนิด นับตั้งแต่ป่าดงดิบเขาที่ระดับความสูงตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป ป่าดงดิบชื้นที่มักขึ้นอยู่ตามหุบเขาและสองฝั่งลำห้วยสายใหญ่ ป่าดงดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณนี้มักพบมีไม้ไผ่ขึ้นปะปนอยู่ ป่าเต็งรัง ป่าไผ่ และทุ่งหญ้าที่กระจายอยู่เป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย ตามบริเวณนี้เป็นป่าเต็งรัง สังคมของต้นไม้และพืชเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ปะปนกันตลอดทั่วพื้นที่ตาม สภาพที่เกิดตามธรรมชาติ โดยปราศจากการรบกวนจากมนุษย์มาเป็นเวลานานหลายร้อยหลายพันปี จนกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพป่าแต่ละประเภทและมีอยู่มากอย่างหลากหลายของชนิดพันธุ์

วัวแดง ห้วยขาแข้ง

            เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จัดได้ป่าเป็นผืนป่าอนุรักษ์แห่งเดียวที่มีอยู่ในประเทศไทย (จากจำนวนรวมทั้งสิ้นจนถึงปัจจุบัน ประกาศไปแล้วจำนวน 31 เขต) ที่ไม่มีราษฎรทั้งชาวไทยและชาวภูเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ จากการสำรวจความหลากหลายของสัตว์ป่าโดยคณะวนศาสตร์ และโดยเจ้าหน้าที่ของกองอนุรักษ์สัตว์ป่าเท่าที่ได้ทำมาแล้ว นับตั้งแต่ก่อนที่จะประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ปรากฏว่าจากความหลากหลายของสภาพภูมิประเทศ สภาพป่าหลายชนิดที่กระจัดกระจายปะปนกัน ตลอดจนความหลากหลายของภูมิอากาศประจำถิ่น ทำให้ป่าห้วยขาแข้งเป็นแหล่งรวมพันธุ์ของสัตว์ป่านานาชนิดดังนี้ คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวน 67 ชนิด นก 355 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 77 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 29 ชนิด และสัตว์จำพวกปลาอีก 54 ชนิด รวมแล้วมีสัตว์ป่าเท่าที่มีการสำรวจมาแล้วทั้งสิ้น 582 ชนิด ในจำนวนสัตว์ป่าที่สำรวจมาแล้วทั้งหมดมีสัตว์ป่าที่ได้รับการกำหนดสถานภาพ โดย IUCN ว่าจะสูญพันธุ์ (endangered species) จำนวน 21 ชนิด และสัตว์ป่าที่ถูกคุกคาม (threatened species) จำนวน 55 ชนิดรวมอยู่ด้วย สัตว์ป่าชนิดที่จะสูญพันธุ์และพบอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้แก่ นกเป็ดก่าหรือนกเป็ดป่า นกยูงไทย นกเงือกคอแดง ลิงไอ้เงี้ยหรือลิงภูเขา ชะนีมือขาว หมาใน เก้งหม้อ เนื้อทราย วัวแดง กระทิง ควายป่า เลียงผา ปลาสะตือ และปลากระโห้ หลักประกันในการที่จะรักษาพันธุ์ของต้นไม้ พืช และสัตว์ป่าได้ จำเป็นต้องอาศัยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ที่มีความต่อเนื่องมิใช่หลายแห่ง แต่เป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย เหมือนเกาะที่อยู่กลางมหาสมุทรที่ขาดการเชื่อมโยงติดต่อกัน ถึงแม้ว่าป่าห้วยขาแข้งจะมีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 2,575 ตารางกิโลเมตร และจัดว่าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นกันดับสองรอง จากทุ่งใหญ่ ก็ยังไม่มีขนาดใหญ่พอที่จะประกันการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าโดยลำพัง รัฐบาลจึงได้ประกาศให้พื้นที่ป่าต่อเนื่องไปทางทิศตะวันตกจรดชายแดนพม่าให้ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีกแห่งหนึ่งคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร พื้นที่ 2,000,000 ไร่ หรือ 3,200 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศในปี พ.ศ.2517 หลังจากมีกรณีอื้อฉาวว่ามีการลักลอบฆ่าสัตว์ป่ากันในใจกลางของป่าทุ่งใหญ่ หลังจากประกาศให้ป่าทุ่งใหญ่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จึงทำให้ป่าอนุรักษ์ในรูปของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ต่อเนื่องเป็นผืนใหญ่ ทั้งสองแห่งนี้มีชื่อเรียกรวมกันว่า ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง พื้นที่รวมกัน 5,775 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,609,375 ไร่ กลายเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและใหญ่ที่สุด ในบรรดาผืนป่าอนุรักษ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปัจจุบันผืนป่าแห่งนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสงวนและคุ้มครอง สัตว์ป่าแล้วว่าให้รวมป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำโจนบางส่วนที่ยังคงสภาพความเป็น ธรรมชาติเหลืออยู่ทางตอนใต้ของป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง อีกจำนวน 447.2 ตารางกิโลเมตร หรือ 279,500 ไร่ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง หลังจากการที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดปิดป่าสัมปทานทำได้ในเมืองไทยตั้งแต่ ต้นปี พ.ศ.2532 ขณะนี้การผนวกพื้นที่กำลังอยู่ในระหว่างการประกาศพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเมือประกาศแล้วพื้นที่ป่าอนุรักษ์ผืนนี้ก็จะมีพื้นที่รวมกันถึง 6,222.2 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,888,875 ไร่

            ผืนป่าอนุรักษ์ในรูปของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ได้ชื่อว่า “ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง” แห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ของ 4 อำเภอใน 3 จังหวัด คือ อำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้งผาง จังหวัดตาก นอกจากนี้ยังถูกล้อมไปด้วยผืนป่าอนุรักษ์แห่งอื่น ๆ ในรูปของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติที่ต่อเนื่องเป็นผืนป่า เดียวกันอีกจำนวน 7 แห่ง นั่นคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง (พื้นที่ 2,516 ตารางกิโลเมตร) อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ (พื้นที่ 594 ตารางกิโลเมตร) และอุทยานแห่งชาติคลองลาน (พันที่ 300 ตารางกิโลเมตร) เชื่อมต่อทางตอนเหนือ และต่อกับอุทยานแห่งชาติเขาแหลม (กำลังดำเนินการประกาศพระราชกฤษฎีกา พื้นที่ 1,488 ตารางกิโลเมตร) อุทยานแห่งชาติศรีนครินทร์ (พื้นที่ 1,089 ตารางกิโลเมตร) อุทยานแห่งชาติเอราวัณ(550 ตารางกิโลเมตร) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ (พื้นที่ 859 ตารางกิโลเมตร) และอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ (พื้นที่ 59 ตารางกิโลเมตร) ทางตอนใต้

            ความสำคัญของป่าอนุรักษ์ทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง ได้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนตลอดจนนักวิจัยชาวไทยและชาวต่างชาติ ว่าเป็นผืนป่าธรรมชาติที่รวมไว้ซึ่งความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ตลอดจนแมลงป่าอีกหลายชนิด เช่น จากการสำรวจของผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์ของประเทศอังกฤษในช่วงเวลาเพียง 2 – 3 วัน ในพื้นที่โดยประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร ของป่าดงดิบชื้นในหุบเขาแม่จัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ปรากฏว่าเฉพาะด้วงปีกแข็งอย่างเดียว มีอยู่ถึง 10,000 ชนิด ผลจากการสำรวจในครั้งนั้นรวมกับการสำรวจแมลงโดยผู้เชี่ยวชาญแมลงในครั้งก่อน ๆ เท่าที่ได้ทำมาแล้วในป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง สามารถกล่าวได้ว่าป่าแห่งนี้ได้เป็นที่รวมเอาความหลากหลายของแมลงชนิดต่าง ๆ ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียอาคเนย์ แมลงบางชนิดที่ได้สำรวจพบแล้ว เป็นแมลงที่ไม่เคยพบในประเทศไทยมาก่อน หรือบางชนิดก็เป็นชนิดที่หาอยากมากในภูมิภาคแห่งนี้ บางชนิดกำลังได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศว่าเป็นแมลงชนิด ใหม่หรือไม่เพราะยังไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างของแมลงที่ได้ถูกกำหนดว่าเป็นสัตว์ป่าตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า แต่ก็มีความสำคัญและน่าสนใจในการศึกษาวิวัฒนาการตามธรรมชาติของป่าไม้และ สัตว์ป่าที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อความสมดุลตามธรรมชาติ ช่วงเวลาเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมาได้มีการศึกษาระบบนิเวศต่าง ๆ ที่สำคัญในประเทศไทย ถึงแม้จะไม่ละเอียดครบทุกแง่ทุกมุม แต่ก็ทำให้เห็นความเป็นไปและความหลากหลายทางด้านชีวภาพ พื้นที่บางแห่งเช่นทางด้านตะวันตก ซึ่งเมื่อก่อนไมมีใครเข้าไปศึกษา แต่ระยะหลังก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างเช่น ในเขตอนุรักษ์ภาคตะวันตก ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง ท่านศาสตราจารย์เต็ม สมิตินันท์ เขียนไว้ในบทความเรื่องสภาพพันธุ์พืชในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2530 ว่าเป็นที่รวมของพันธุ์พืชของ 3 เขตภูมิศาสตร์คือ Indo Burma, Annametic และ Malasia และมีพืชประจำถิ่นที่หายากไม่น้อยกว่า 50 ชนิดและจากผลการสำรวจของ ดร.จิรายุพิณ จันทรประสงค์ และคณะจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ในช่วงเวลาเพียง 5 วัน ก็ได้พบพืชประจำถิ่น (endemic species) เพิ่มขึ้นอีก 6 ชนิดผลจากการศึกษาที่ผ่านมาถึงแม้จะยังไม่ได้ทำกันอย่างละเอียดถี่ถ้วน ก็สามารถกล่าวได้ว่าป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง แห่งนี้เป็นศูนย์รวมการการกระจายของพืชพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์อย่าง แท้จริง

           ท่านศาสตราจารย์เต็ม สมิตินันท์ ยังได้กล่าวไว้อีกว่า ?ถิ่นกำเนิดพืชที่ถูกทำลายหรือเปลี่ยนสภาพไปมากในประเทศไทย คือ ป่าที่ปรากฏอยู่ในที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำสายใหญ่ ๆ (lowland forest) ซึ่งส่วนใหญ่ได้กลายเป็นพื้นที่กสิกรรมและที่อยู่ภายใต้เขื่อนใหญ่ ๆ อีกหลายเขื่อน ป่าที่ลุ่มต่ำที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และที่เป็นผืนใหญ่นั้นหาไม่ได้แล้ว ทำให้พืชบางชนิดสูญพันธุ์ไป เช่น Damrongia purpureolineata kerr ซึ่ง Dr.Kerr ได้ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่กรมพยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงสนพระทัยในเรื่องการศึกษาของชาติ ไม้ในสกุล Damrongia (Generiaceae) นี้ มีพบในประเทศไทยเท่านั้น พบที่แก่งแม่ปิง บ้านก้อ ที่ระดับความสูง 195 เมตรหรือระดับน้ำทะเลปัจจุบัน ภายหลังการสร้างเขื่อนภูมิพลก็ยังไม่พบที่ใดอีกเลย

            ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ อดีตคณบดีคณะวนศาสตร์ ได้กล่าวไว้ว่าเคยมีความพยายามที่จะบันทึก และจัดลำดับความสำคัญของสัตว์ป่าที่จะสูญพันธุ์ ในเมืองไทย โดย Bain and Humphrey ในปี พ.ศ.2523 โดยกำหนดสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ไว้ทั้งหมด 49 ชนิด ซึ่งเมื่อดูรายชื่อตลอดจนพื้นที่ป่าที่คาดว่ามีสัตว์ป่าเหล่านั้นหลงเหลือ อยู่ และมีพืชประจำถิ่นซึ่งไม่สามารถหาพบได้ในที่อื่นอีกแล้วจะเห็นได้ว่าพื้นที่ ป่าที่เหลืออยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้รวมเทือกเขาที่สำคัญไว้ ซึ่งสมควรได้รับการดูแลรักษาไว้ให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตอนุรักษ์ที่ต่อเนื่องเป็นผืนใหญ่อย่างป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ และสัตว์ที่มีปริมาณลดลง เนื่องจากถูกคุกคามเป็นจำนวนมาก พื้นที่ขนาดใหญ่ที่ต่อเนื่องกันมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์เผ่าพันธุ์ของพืช และสัตว์เป็นอย่างยิ่ง ผืนป่าใหญ่ผืนนี้อยู่บนรอยต่อของเทือกเขาถนนธงชัยและเทือกเขาตะนาวศรีจึง เป็นศูนย์กลางการกระจายของสัตว์ป่าและพืชในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เช่น ลิงไอ้เงี้ยะหรือลิงภูเขา ค่างแว่นถิ่นเหนือ พังพอนกินปู เสือไฟ นกเงือกคอแดง เป็นต้น เป็นสัตว์ป่าที่มีถิ่นการกระจายอยู่ในเขต Indo China และสมเสร็จ ชะมดแปลงลายแถบ ลิ่น กระรอกบินแก้มสีแดง เป็นต้น มีถิ่นการกระจายขึ้นมาจากทางใต้ คือ Malesia

           ในจำนวนสัตว์ป่าที่สำรวจพบแล้วในป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง ปรากฏว่ามีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คิด เป็นร้อยละ 33 ของสัตว์ที่พบว่ามีถิ่นกระจายอยู่ในแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ (Mainland S.E.Asia) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 45 ชนิด หรือร้อยละ 53 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบในประเทศไทยเป็นสัตว์ที่ไม่ได้จัดสถานภาพว่า กำลังถูกคุกคามในประเทศ ในจำนวนนี้มีอยู่ 15 ชนิด ที่ ถูกจัดว่าถูกคุกคามอยู่ในภูมิภาคนี้ และมี 3 ชนิด ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีถิ่นกำเนิดเฉพาะถิ่น (endemic species) นั่นคือ 2 ชนิด มีถิ่นกำเนิดอยู่เฉพาะในแทบเทือกเขาตะนาวศรี ได้แก่ เก้งหม้อ (Fea’s Barking Deer) และ Fea?s Horseshoe Bat ส่วนอีก 1 ชนิด มีถิ่นกำเนิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น คือ Discnosed Roundleaf Bat ซึ่งเป็นค้างคาวชนิดที่เพิ่งพบใหม่ในประเทศไทยนอกจากนี้ยังมีสัตว์เลี้ยงลูก ด้วยนมเฉพาะถิ่นที่กระจายอยู่ตามถ้ำเขาหินปูนทางตอนใต้ของป่าทุ่งใหญ่ ? ห้วยขาแข้ง คือ ค้าวคาวกิตติ (Kitti’s Bumblebee bat) และหนูถ้ำ (Neill’s Rat)

           ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง ยังเป็นศูนย์รวมการกระจายของสัตว์ป่า 3 เขตสัตวภูมิศาสตร์ นั่นคือ มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กระจายขึ้นมาเหนือสุดในบริเวณนี้จากตอนใต้ของ ภูมิภาค (Sundaic) ได้แก่ บ่าง (Malayan Flying Lemur) ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน (Common Flying Fox) ค้างคาวหน้ายักษ์หมอโค้ง (Large Malay Roundleaf Bat) ลิงแสม (Crab-eating Macaque) ค่างดำ (Banded Leaf Monkey) ชะมดแปลงลายแถบ (Banded Linsang) และสมเสร็จ (Tapir) เป็นต้น และในทางตรงกันข้าม ก็มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กระจายลงมาต่ำสุดจากตอนเหนือของภูมิภาค นั่นคือ ค้างคาวมงกุฎจมูกแหลมเหนือ (Blyth’s Horseshoe Bat) ค้างคาวฟันหน้าซ้อนใหญ่ (Tickell’s Bat) ค้างคาวลูกหนูจิ๋วหลังเทา (Pygmy Pipistrelle) ค้างคาวหนูถ้ำ (Chinese Pipistreiie) ลิงวอก (Rhesus Macaque) และค่างแว่นถิ่นเหนือ (Phayre’s Leaf Monkey) เป็นต้น และในบริเวณนี้เช่นกันก็มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กระจายจากภาคตะวันออก เฉียงเหนือมาถึงด้านตะวันตกของป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง เท่านั้น คือ ค่างหงอก (Silvered Leaf Monkey)

           ในสถานการณ์ที่ป่าไม้ของประเทศไทยได้ถูกทำลายไปจนเหลืออยู่ประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่ประเทศ พื้นที่ป่าไม้ที่เหลืออยู่ประกอบด้วยพื้นป่าอนุรักษ์ในรูปแบบของป่าต้นน้ำ ลำธารนี้ ยังคงเป็นป่าสมบูรณ์อยู่ประมาณร้อยละ 3 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจำนวน 31 เขต คิดเป็นพื้นที่ร้อยละ 4.5 และ อุทยานแห่งชาติ ที่ไม่รวมเอาพื้นที่น้ำเข้าไว้ด้วยอีกร้อยละ 5.4 รวมแล้วประมาณร้อยละ 13 ของพื้นที่ประเทศ ส่วนที่เหลือของป่าไม้ก็คือ ป่าสงวนแห่งชาติที่กระจัดกระจายอยู่รอบ ๆ ป่าอนุรักษ์และกำลังถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อยึดครองพื้นที่ป่าจึงเหมือนมะเร็ง ที่ลุกลามเข้ามาติดผืนป่าอนุรักษ์ที่เหลือกระจัดกระจายเป็นย่อมเล็กหย่อม ย่อมน้อยอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของประเทศ

           ป่าอนุรักษ์จึงเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ของป่าธรรมชาติที่ เหลืออยู่ เพื่อที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ในรูปแบบที่สามารถจำแนกได้อย่างชัดเจน ดังนี้คือ อุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพธรรมชาติโดดเด่นในด้านความงาม ที่สามารถให้ประโยชน์ในด้านทัศนศึกษาและความรื่นรมย์ให้กับประชาชนทั่วไป ในขณะที่วนอุทยานอาจจัดอยู่ในกลุ่มของพื้นที่ป่าไม้ที่มีความงามตามธรรมชาติ แต่มีขนาดพื้นที่เล็กกว่าและรูปแบบการจัดการพื้นที่ไม่เข้มข้นเท่ากับอุทยานแห่งชาติ

           สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น เป็นป่าอนุรักษ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้คงสภาพเป็นป่าธรรมชาติ ที่เป็นถิ่นกำเนิดของสัตว์ป่าหลายชนิดหลายพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ป่าที่หายากและมีเหลืออยู่จำนวนน้อย สัตว์ป่าที่กำลังถูกมนุษย์คุกคาม จนทำให้จำนวนลดลงจนใกล้จะสูญไปจากถิ่นกำเนิดดั้งเดิม ตามธรรมชาติ ดังนั้น ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จึงได้รับการกำหนดเป็นกฎหมายและระเบียบการใช้ที่เคร่งครัดมากกว่าอุทยานแห่ง ชาติ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้สภาพถิ่นกำเนิดดั้งเดิม ของสัตว์ป่าต้องถูกเปลี่ยนแปลงไป ส่วนเขตห้ามล่าสัตว์ป่าที่มักจะประกาศครอบคลุมพื้นที่เฉพาะขนาดเล็กที่ห้าม การล่าสัตว์ป่าบางชนิด โดยเฉพาะนกที่อาศัยอยู่ตามอ่างเก็บน้ำหรือหย่อม ป่าขนาดเล็กเท่านั้น นอกจากนี้ป่าอนุรักษ์ยังครอบคลุมถึงพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารชั้นหนึ่งที่ได้ รับการประกาศตามมติคณะรัฐมนตรีอีกส่วนหนึ่งด้วย

ทุ่งพระฤาษี ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

           พื้นที่ป่าอนุรักษ์สามารถอำนวยประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรงก็คือ สภาพป่าธรรมชาติและสัตว์ป่าที่ให้ความสุนทรียแก่มวลมนุษย์ ในรูปของการทัศนศึกษาและการผักผ่อนหย่อนใจ ประกอบกับรัฐและประชาชนในถ้องถิ่นมีรายได้ทางเศรษฐกิจจากการที่มีคนเข้าไป ใช้บริการเพื่อการรื่นรมย์กับธรรมชาติ ที่รัฐกำหนดไว้เป็นอุทยานแห่งชาติและวนอุทยานสำหรับประโยชน์ทางตรงที่เห็น ได้ชัดเจนจากพื้นที่ที่ได้รับการกำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก็คือ เป็นแหล่งศึกษาหาข้อมูลในด้านวิชาการป่าไม้ สัตว์ป่าและระบบความสมดุลทางนิเวศวิทยา อีกทั้งเป็นแหล่งรวมพันธุ์พืชและสัตว์ป่าที่สามารถนำมาใช้ในการปรับปรุง พันธุ์สัตว์เลี้ยงที่มนุษย์นำมาประยุกต์ใช้เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดย ส่วนรวมของประเทศ นอกจากผลประโยชน์โดยตรงดังกล่าวแล้ว ป่าอนุรักษ์ที่ยังคงสภาพเป็นป่าธรรมชาติที่ปราศจากการรบกวนจากมนุษย์ ยังอำนวยประโยชน์ทางอ้อมอย่างมหาศาลที่ยากจะประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจออกมา เป็นตัวเงินให้เห็นได้ชัดเจนได้ แต่สามารถกล่าวได้ว่าความต่อเนื่องของป่าธรรมชาติเป็นผืนใหญ่นั้น เป็นหลักประกันต่อการคงเผ่าพันธุ์ของพืชและสัตว์ที่ได้อาศัยเวลานับร้อยนับ พันปีในการวิวัฒนาการ จนสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ได้ และได้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการควบคุมความสมดุลทางธรรมชาติ ควบคุมภัยพิบัติที่จะเกิดจากการทำลายธรรมชาติจนถึงขั้นวิกฤตหรือทำให้ภัย ธรรมชาติลดความรุนแรงลง นอกจากนี้ แหล่งกำเนิดของความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ และอากาศที่บริสุทธิ์นั้น มาจากป่าธรรมชาติดั้งเดิมทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างการประเมินคุณค่าของแหล่งต้นน้ำแควน้อยและแควใหญ่ ที่ไหลต่อเนื่องลงมาสู่ลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่างให้คุณค่าทางเศรษฐกิจต่อ ประชาชนที่อาศัยพื้นที่สองฝั่งของแม่น้ำนั้นในการกสิกรรมและสวนผลไม้ คิดเป็นมูลค่าที่ประเมินได้ไม่น้อยกว่าปีละ 350 ล้านบาท (จากการประเมินค่าทางเศรษฐกิจของป่าอนุรักษ์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง โดย Dobias,1988) จะเห็นได้ว่าป่าอนุรักษ์ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง รักษาไว้เพื่อให้เป็นแหล่งผลิตธาตุอาหารที่จะเกิดจากการเน่าเปื่อยผุสลายของ ต้นไม้และพืชป่าที่จะถูกน้ำพัดพาให้ไหลลงมาเป็นประโยชน์ต่อการกสิกรรมของ พื้นที่ตอนล่าง อีกทั้งป่าธรรมชาติยังช่วยควบคุมมิให้เกิดการพังทลายของหน้าดินที่สะสมเอา ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ไว้

           ป่าอนุรักษ์ผืนนี้ นับได้ว่าเป็นผืนป่าธรรมชาติที่มีคุณค่าและมีความสำคัญยิ่งต่อการอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อยังคงสภาพของความเป็นธรรมชาติที่ประกอบไปด้วยความหลากหลายของสภาพป่า ชนิดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ตลอดจนเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่สามารถคุ้มครองความอยู่รอดของสัตว์ป่ามิให้สูญ พันธุ์ไปจากการถูกทำลายโดยรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการล่า การตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่เฉพาะของสัตว์ป่าแต่ละชนิด รวมกระทั่งถึงการพัฒนาที่มิได้อยู่บนพื้นฐานของการรักษาระบบนิเวศวิทยาของ สิ่งมีชีวิต รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของผืนป่าแห่งนี้โดยการเสนอชื่อไปยังองค์การสหประชา ชาติ (UNESCO) เพื่อที่จะให้ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้งเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก ในรูปแบบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อคงไว้ซึ่งการดูแลรักษาพันธุ์พืชและ พันธุ์สัตว์มิให้สูญพันธุ์ไปจากถิ่นกำเนิดดั่งเดิมและการที่ป่าผืนนี้จะได้ รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการนานาชาติที่เป็นสมาชิกให้เป็นมรดกทางธรรมชาติ แห่งหนึ่งของโลกหรือไม่ ก็อยู่ที่พวกเราคนไทยทุกคนจะได้ช่วยกันสนับสนุนการดูแลรักษา และใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง เพื่อคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ในรูปแบบของความสมดุลทางระบบนิเวศวิทยาที่นับวัน แต่จะถูกทำลายลง จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติที่ติดตามมาจากการทำลาย ธรรมชาติและการใช้ประโยชน์ที่ไม่ถูกต้อง

แหล่งข้อมูล : เอกสารแปลประกอบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ (Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage) หรืออนุสัญญามรดกโลก

แหล่งภาพถ่ายและกราฟฟิก : เดินเท้า 1 , Maeodao