ความเป็นมา - ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก
Menu

ความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา

          เริ่มตั้งแต่ปี 2508 โดยนายประเสริฐ อยู่สำราญ ดำรงตำแหน่งป่าไม้เขตบ้านโป่งในช่วงนั้น ได้ทำหนังสือถึงกรมป่าไม้ให้ดำเนินการกำหนดพื้นที่ป่าแห่งหนึ่งในพื้นที่รับผิดชอบเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยด่วน เนื่องจากพื้นที่ป่าแห่งนี้ยังมีสัตว์ป่าชุกชุมมากและเป็นสัตว์ป่าที่มีคุณค่า แต่มีผู้ลักลอบเข้าไปล่าสัตว์เป็นประจำและนับวันยิ่งเพิ่มจำนวนการล่ามากยิ่งขึ้น หากยังเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทางป่าไม้เขตจะไม่สามารถบริหารจัดการยับยั้งการล่าได้ จึงควรจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งมีพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ไว้ลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเข้มข้น กรมป่าไม้ได้ตอบสนองต่อข้อเสนอนี้โดยจัดให้นายผ่อง เล่งอี้ หัวหน้าฝ่ายจัดการสัตว์ป่า (ตำแหน่งในขณะนั้น) เข้าไปทำการสำรวจความเหมาะสมโดยมี ดร.แจ้ค โพเดน ร่วมเดินทางไปด้วยในปี พ.ศ. 2510 หลังจากสำรวจแล้วมีความคิดเห็นว่ามีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเสนอต่อกรมป่าไม้ว่าควรเร่งทำการอนุรักษ์พื้นที่นี้ในรูปของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยด่วน

ป้าย ขสป. ทุ่งใหญ่นเรศวรแห่งแรก

          ในช่วงปี พ.ศ. 2515 กรมป่าไม้เห็นชอบและสั่งการอนุมัติให้เจ้าพนักงานออกไปสำรวจศึกษา และกำหนดแนวเขตพื้นที่พร้อมทั้งดำเนินการป้องกันการล่าสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองในพื้นที่เท่าที่กฎหมายครอบคลุมถึงไปก่อน ในช่วงนี้มีคณะบุคคลกลุ่มใหญ่นำอาวุธ และเฮลิคอปเตอร์ของทางราชการเข้าไปล่าสัตว์ในบริเวณป่าผืนนี้ จนเกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม ทำให้มีการสอบสวนและเป็นข่าวดังขึ้น ทำให้ป่าทุ่งใหญ่เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงโด่งดังไปในกลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งในและนอกประเทศ

ที่มา หนังสือบันทึกลับจากทุ่งใหญ่

ซากกวางจากการล่าในทุ่งเซซาโว

ซากเฮลิคอปเตอร์ในเหตุการณ์

          ช่วงต้นปี พ.ศ. 2529 จนถึง พ.ศ. 2531 คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน ซึ่งเป็นเขื่อนแบบหินทิ้งแกนดินเหนียว สูง 187 ม. สันเขื่อนยาว 430 ม. มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 142 ตร.กม. สามารถกักเก็บน้ำได้ 5,950 ล้านลูกบาศก์เมตร  จะใช้เวลาก่อสร้าง 7 ปีตั้งแต่ พ.ศ. 2526 – 2532 มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนโครงการรวม 12,592 ล้านบาท ที่ตั้งเขื่อนจะสร้างอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และป่าสงวนแห่งชาติน้ำโจน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี การคัดค้านนี้เป็นการร่วมมือกันจัดกิจกรรมของประชาชนชาวกาญจนบุรี นักวิชาการ นักอนุรักษ์ นักเรียน นักศึกษา ในยุคนั้นถือว่าเป็นมิติใหม่ของการแสดงออกทางความคิดซึ่งนำด้วยข้อมูลและองค์ความรู้จากพื้นที่จริงๆ จนวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2531 คณะรัฐมนตรี มีมติระงับการก่อสร้าง เขื่อนน้ำโจนไว้ก่อน

 

          12 สิงหาคม พ.ศ. 2534 ได้ผนวกพื้นที่เพิ่มเติมในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติน้ำโจน จำนวน 279,500 ไร่ และได้แยกส่วนในการบริหารจัดการออกเป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ตั้งอยู่ในเขต อ.อุ้มผาง จ.ตาก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตั้งอยู่ในเขต อ.ทองผาภูมิ และ อ.สังขละบุรี จ. กาญจนบุรี

แหล่งภาพและเนื้อหา : หัวหน้าสืบ นาคะเสถียร, หนังสือ บันทึกลับจากทุ่งใหญ่, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, นายวสันต์ สวัสดิ์สาย